เป็นที่ทราบกันดีว่าการขี่รถมอเตอร์ไซค์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ขึ้นเขาเพื่อไปเที่ยวหรือกางเต็นท์เป็นที่นิยมมากในตอนนี้ ซึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการขี่ขึ้นเขา-ลงเขา หรือทางลาดชั้น และยังทางโค้งอีกด้วย และนั้นคือสิ่งที่อันตรายทั้งนั้น เราจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นและต้องมีความชำนาญเช่นกัน แต่ผมเชื่อว่าสำหรับมือใหม่อาจจะยังเกร็งๆและกังวลเล็กน้อย มาครับวันนี้ Tasteride จะเอาเทคนิคในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นเขา-ลงเขาที่เพื่อนๆควรรู้มาบอก
อันดับแรกควรมีสติในการขับขี่ ไม่ว่าคุณจะมีความชำนาญ หรือไม่ค่อยชำนาญ ก็ไม่ควรประมาทควรต้องมีสติในการขับขี่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบนเส้นทางที่ไม่คุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นทางโค้งหรือทางลาดชัน เคยได้ยินคำพูดนี้ใช่ไหมครับ “ถนนเส้นเดิม แต่ไม่เหมือนกันทุกวัน” เวลาขับขี่คุณควรกวาดสายตาตลอดเวลาบนถนนว่าหนทางเป็นอย่างไร มีทางโค้งช่วงไหน ควรใช้ความเร็วเท่าไร เพื่อที่จะได้วางแผนและขับขี่ผ่านเส้นทางนั้นอย่างปลอดภัย
อันดับที่สองเรื่องการใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงของถนนและเส้นทาง ไม่ควรจะใช้ความเร็วมากจนเกินไป เมื่อคุณต้องขับขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นเขา-ลงเขานั้น หรือทางโค้ง คุณควรต้องคำนึงถึงลักษณะเส้นทางและสภาพถนนตลอดจนสภาพอากาศในวันที่เดินทาง ซึ่งความเร็วที่ใช้ที่ไม่เกิน 60- 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือความเร็วที่กำหนดตามป้ายจราจรที่บอกไว้ อย่าขี่เร็วเกินไป และอย่าช้าจนความเร็วไม่สัมพันธ์กับเกียร์ เพราะจะทำให้รถไม่มีแรงขึ้นเขา อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการเบรกและน้ำหนักรถด้วย
ต่อมาครับเรื่องสรีระในการขับขี่โดยคุณต้องพยายามใช้เข่าหนีบตัวถังเอาไว้เพื่อการขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำว่าให้ใช้เข่าและช่วงต้นขาหนีบตัวถังเอาไว้ หรือที่เรียกว่า Knee Grip โดยให้ช่วงต้นขาเป็นตัวจับยึดถังไว้ เพื่อให้ลำตัวอยู่แนบกับตัวรถ เพื่อใช้น้ำหนักตัวในการขยับและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าพร้อมกับรถ ซึ่งจะผ่อนแรงและช่วยถอนน้ำหนักที่กดเกร็งอยู่ตรงข้อมือ
เรื่องการใช้เกียร์ต่ำในการขับขี่ จะทำให้รถเกิดแรงฉุดเพื่อให้วิ่งช้าลง จึงสามารถเบรกและเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นขณะขึ้นเขาหรือลงเขาควรใช้เกียร์ต่ำ หรือไม่เกินเกียร์ 3 แต่หากรู้สึกว่ารถเริ่มไม่มีแรง ให้ลดเกียร์ต่ำลงมาอีกได้ และสิ่งที่ไม่ควรทำคือการบิดเร่งเมื่อถึงจุดที่ลาดชัน เพราะรถจะเริ่มพุ่งแรง
ต่อมาสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งนะครับ นั้นก็คือการแตะเบรกแช่ไว้ เพราะถ้าเป็นรถมอเตอร์ไซค์แบบมีเกียร์ให้ใช้เกียร์ต่ำเพื่อเป็นแรงฉุดในการชะลอความเร็ว แต่ถ้าเป็นรถมอเตอร์ไซค์เกียร์ออโต้ เราควรค่อยๆแตะเบรกและบิดคันเร่งเล็กน้อย พอให้รู้สึกว่ารถเริ่มมีแรงดึงเหมือนรู้สึกว่าเป็นการทำ Engine Brake จากนั้นค่อยๆ ใช้เบรกหน้าสลับกับเบรกหลังทีละนิด อย่ากำเบรกเยอะหรือแช่ไว้ เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ได้นะครับ ควรเบรกเฉพาะช่วงที่จำเป็นเท่านั้น